ข่าวราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี นำนักศึกษาเรียนรู้การทำว่าวจุฬา ที่ อ.วัดเพลง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย รอการสืบทอดและอนุรักษ์ของเล่นโบราณให้คงอยู่คู่แผ่นดิน

 


                 ( 1 ธ.ค. 65 ) ดร.รัชนิดา  รอดอิ้ว  อาจารย์ ชญาดา  อาสนสุวรรณ อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงและนางฐิรัตทียา สุภาชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี  ได้นำนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ  มาศึกษาเรียนรู้และฝึกการถ่ายภาพทำสกู๊ปข่าวการทำว่าวจุฬาไทย  ของนายปรีชา สุคนธมาน อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่  53 หมู่ 5 ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี 


                ว่าวจุฬาเป็นว่าวไทย ที่มีการละเล่นมาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย  อยุธยา  รัตนโกสินทร์ มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะรัชกาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5  ทรงโปรดปรานการเล่นว่าวไทยโบราณมาก มีการละเล่นว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ชิงถ้วยพระราชทานในสมัยนั้น โดยให้พลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์ ) เป็นนายสนาม นักเล่นว่าวนิยมนำว่าวมาแข่งขัน จึงเป็นกีฬาที่สนุกสนาน เมื่อถึงฤดูแข่งขันว่าวจะมีประชาชนไปชมกันทุกเพศทุกวัย ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพวงมาลัย โดยทรงสวมให้เพื่อเป็นเกียรติ  

               สำหรับว่าวจุฬาจะได้รับพระราชทานผ้าแพรปัก พระปรภิไธย ย่อ จปร. ติดที่ตัวว่าว ผ้าแพร 3 สี  คือ สีทอง  สีชมพู และสีทับทิม ส่วนว่าวปักเป้าได้รับดอกจันทน์ 3 สี ในระหว่างแข่งขันด้วย มีแตรวงและพิณพาทย์ บรรเลงเพลงต่างๆทำให้สนุกสนานครึกครื้น  

                 แต่ปัจจุบันการทำว่าว เล่นว่าวลดน้อยลง เพราะผู้เชียวชาญการทำได้ล้มหายตายจากกันไป  แต่ก็ยังมีผู้สืบทอดกันมา อย่างอาจารย์ปรีชา สุคนธมาน ยังมีการสืบทอดการทำว่าวจุฬาไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว  เพื่อเป็นการสืบสานศิลปะแขนงนี้ จึงได้นำน้อง ๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ไปเลือกไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ที่มีความเหมาะสมคงทนในการทำว่าว เนื่องจากเนื้อไม้มีน้ำหนักเบา เหนียว ยืดหยุ่นสูง ไม่หักง่าย  โดยจะต้องเลือกไม้ที่อยู่บริเวณกลางกอไผ่ จะมีแสงแดดส่องได้ทั่วลำ อายุในการใช้อยู่ประมาณ 3-5 ปี จึงตัดลงมาทำว่าวจุฬาได้รูปทรงดี นำมาตัดเป็นท่อนผ่าออกมาเป็นซีก เหลาให้เรียวยาวตามสัดส่วน  โดยหากเป็นว่าวจุฬาจะประกอบด้วยไม้ 5 อัน ไม้อันกลางเรียกว่า “อก” เหลาหัวท้ายให้ปลายเรียว ไม้อีก 2 อัน ผูกขนาบตัวปลายให้จรดกันเป็นปีก และไม้อีก  2 อัน เป็นขาว่าว เรียกว่า “ขากบ”  จากนั้นนำโครงว่าวมาขึงด้าย เป็นตารางตลอดตัวว่าวเรียกว่า “ผูกสัก” แล้วใช้กระดาษทากาวแล้วปิดทับลงบนโครง  โดยวิธีการทำอาจจะดูว่าทำง่าย ๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว การทำว่าวถือเป็นภูมิปัญญาที่จะต้องใช้ความอดทน มีสมาธิ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียด  หากทำแล้วไม่ได้สัดส่วนอาจจะทำให้ว่าวไม่สามารถลอยตัวขึ้นบนฟ้าได้เลย  หรือ อาจลอยตัวขึ้นได้ แต่การทรงตัวไม่ค่อยดี เอียงซ้าย เอียงขวา หรือ หมุนควงดิ่งลงพื้นดินได้ โดยช่างแต่ละคนจะมีเทคนิคและเคล็ดลับการทำว่าวที่แตกต่างกันไป  ส่วนการทำว่าวจุฬาแต่ละตัวใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 3-7 วัน  อยู่ที่ความชำนาญและความประณีต ทั้งการติดดอกลายไทยประยุกต์เป็นรูปต่าง ๆ ตั้งแต่ 5-7 ชั้น และยังพัฒนาเรื่องรูปทรงการขึ้น การส่าย ต้องสวย ต้องเสียงดัง และต้องสูง ทรงตัวดี ส่วนราคาจำหน่ายมีหลายขนาดตั้งแต่ 1 - 4 ศอก เช่น ว่าวจุฬา 1 ศอก หรือ ขนาด 50 เซนติเมตร ขายราคา 750 บาท ขึ้นไป  แล้วแต่ละขนาดราคาจะไม่เท่ากัน 

              นายปรีชา สุคนธมาน  หรือ ลุงชาจุฬาไทย  ผู้อนุรักษ์ว่าวจุฬาโบราณ กล่าวว่า อยากให้ว่าวไทยมีการอนุรักษ์สืบสานต่อไปจนถึงชั่วลูกหลาน เพราะว่าว่าวไทยตอนนี้กำลังจะหมดไปแล้ว จึงคิดว่าอยากทำให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  ก่อนที่ชีวิตยังมีอยู่  อยากให้มีการส่งเสริมเรื่องมีบุคลากรมาสืบสานต่อ อยากให้มีการส่งเสริมเรื่องผู้ที่จะสืบสานหรือ เรื่องงบประมาณต่างๆมาช่วย เพราะการทำจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องหาไม้ กระดาษ  อุปกรณ์ในการทำว่าว อยากให้เด็กได้กลับมามีว่าวไทยวิ่งเล่นกันอีกเหมือนเดิมสมัยที่ตนเองเคยเป็นเด็กได้วิ่งเล่นว่าวไทยในสมัยก่อนกลับคืนมา  ปัจจุบันนี้เด็ก ๆ จะยึดติดเล่นอยู่แต่โทรศัพท์มือถือ เกม ยาเสพติด จึงอยากทำให้เด็กหันมาสนใจการเล่นว่าวไทยอีกครั้ง  อีกทั้งยังได้ประโยชน์คือ เด็กยังได้ออกกำลังกายมีสุขภาพที่แข็งแรง  ช่วงหน้าเล่นว่าวที่กำลังจะมาถึงนี้ อยากให้ผู้ที่สนใจได้จัดกิจกรรมว่าวไทยกันให้มากขึ้น ทั้งว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวสาย  ว่าวภาพต่างๆ อยากให้มองอย่างลึกซึ้งถึงประโยชน์ของการเล่นว่าว   ซึ่งขณะนี้ได้รับการติดต่อจากสถานที่ต่างๆ เช่น บ้านไร่ในฝัน อ.เมืองราชบุรี ให้นำว่าวจุฬาไปแสดงโชว์ในงานวันเด็กแห่งชาติที่กำลังจะมาถึงในต้นเดือนมกราคมนี้  จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาว่าวไทยโบราณได้ดำรงคงอยู่ไปชั่วลูกหลานจะได้ไม่สูญหายไปจากแผ่นดิน 

             สำหรับที่นี่ยินดีสอนการทำว่าวจุฬาฟรี ทางเฟซบุ๊ก ชา จุฬาไทย  หรือ ติดต่อเบอร์ 081-4979219

                                         //////////////////////////////////////////

 พันธุ์ – จรรยา    แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี









































ความคิดเห็น