ข่าวราชบุรี : นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย จ.ราชบุรี จัดกิจกรรมการสาธิตระบบการทำสลบกุ้งด้วยชุดเครื่องลดอุณหภูมิ ถือเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ที่ถูกคิดค้นขึ้นจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ส่งกุ้งระยะทางไกลไม่ต้องใช่น้ำ 10 ชั่วโมงกุ้งไม่ตาย ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง กุ้งยังมีคุณภาพสดดีอีกด้วย
( 22 ก.พ. 66 ) นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ได้เดินทางมาตรวยเยี่ยมดูการสาธิตระบบการทำสลบกุ้งก้ามกรามด้วยชุดเครื่องลดอุณหภูมิน้ำ ที่บริเวณบ่อกุ้งของนายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ตั้งอยู่เลขที่ 97 ต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งได้มีการคิดค้นขนส่งกุ้งก้ามกราม ส่งให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเป็นผลสำเร็จ กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ และยังทำให้กุ้งมีคุณภาพดี สดใหม่ ตายน้อยลง ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยของคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาเครื่องกล ที่พยายามศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่ช่วงการเกิดปัญหาสถานการณ์โควิด – 19 แพร่ระบาด เกษตรกรได้รับผลกระทบในการจำหน่ายกุ้ง เพราะจะมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องแบกรับภาระปัญหามากมาย ทั้งเรื่องค่าน้ำแข็งในการแช่อัดกุ้ง ราคาน้ำมัน และภาระค่าแรงคนงานที่ต้องกินต้องใช้ แต่ราคากุ้งก็ยังมาตกต่ำอีก ขายแทบไม่ออก จากปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซึ่งน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระต่าง ๆ ได้
ศ.ดร.ฐานิตย์ เมชยานนท์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า เรื่องการขนส่งกุ้งแบบเดิมจะใช้น้ำทำให้กุ้งช้ำจากการกระแทกของน้ำ ไม่สามารถขนส่งเดินทางในระยะทางไกลได้ เพราะจะต้องแบกน้ำไปด้วย และจากการที่แบกน้ำจึงทำให้ต้นทุนสูง ต้องมีจุดถ่ายน้ำ และจุดเปลี่ยนน้ำแข็งระหว่างทาง ค่อนข้างยุ่งยากในการนำไปส่งระยะทางไกล หากจะขนส่งไปต่างประเทศโอกาสที่จะใช้น้ำน้อยมาก เช่น จะขนส่งไปประเทศจีนจะแบกน้ำไปได้อย่างไร โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงที่ตั้งแต่การกระจายผลิตภัณฑ์กุ้งช่วงโควิด -19 ตลาดมหาชัยปิด ตลาดไทยปิด จึงมาคุยกับสหกรณ์ที่มีความลำบากมากในการขนส่งกุ้งออกไปนอกพื้นที่ไกล ๆ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขนส่งกุ้งแบบไม่ใช้น้ำในช่วงโควิด แม้โควิดจะจบไปแล้วก็ยังสามารถต่อยอดไปได้คือ ยังขนส่งไปจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต เชียงราย เชียงใหม่ หรือ ขนส่งทางเครื่องบิน ก็ไปลงที่หลวงพระบาง เวียงจัน คุณหมิงก็ยังได้ โครงการนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ส่วนอัตราการรอดของกุ้งขึ้นอยู่สุขภาพกุ้ง โดยกุ้งที่นำมาทำการสลบต้องเป็นกุ้งที่สุขภาพดี ถ้าได้กุ้งดีที่เคยทดลองมา ประมาณ 90 - 97 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปของอัตราการรอดจะได้ดี แต่หากกุ้งสุขภาพไม่ดีอัตราการรอดก็ลดต่ำลงไป จึงมีความสำคัญตั้งแต่การเลี้ยง การเก็บเกี่ยวที่ไม่ทำให้กุ้งช้ำ ข้อดีอีกอย่างคือ เมื่อถึงที่หมายกุ้งก็ยังหายใจได้ตามปกติ ส่วนที่ตายจริงๆ 5-10เปอร์เซ็นต์นั้น เนื้อยังสด เนื้อใสยังขายได้ราคาดีอยู่ ไม่เหมือนกับการส่งไปทางน้ำที่หัวจะหลุดเน่าใช้ไม่ได้ขายไม่ได้ราคา
นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของเกษตรกรไทยทั่วประเทศที่ได้มีการพัฒนาเรื่องกุ้งกรามในการขนส่งไปอีกระดับหนึ่ง การขนส่งมีข้อดีคือ การที่ขนแบบแห้งไม่ต้องแบกน้ำหนักน้ำ เช่น ถ้าขนส่งกุ้งไป 10 กก. ต้องแบบน้ำไปอีก 30 กก. รวมเป็น 40 กก. ซึ่งเป็นอีก 3 เท่าตัว นวัตกรรมนี้ขนส่ง จึงเป็นข้อดีของการไม่ต้องแบกน้ำหนักน้ำไปส่งลูกค้า โดยวันนี้มีการร่วมกับผู้ส่งออก กรมประมง หน่วยงานรัฐ ส่วนของผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศ เกษตรกรต่างประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชาก็มาด้วย และมีผู้ให้ทุนเครื่องตัวนี้ คือเป็นเครื่องลดอุณหภูมิทำให้กุ้งสลบ ส่วนขั้นตอนจะมีการคัดกุ้งไว้ก่อนในบ่อ แล้วค่อย ๆ ปรับอุณหภูมิให้ลดลงในระดับหนึ่งประมาณ 22 องศาก่อน หลังจากนั้นเอากุ้งไปใส่ปรับอุณหภูมิแล้วค่อย ๆ ลดอุณหภูมิลงเรื่อย ๆ จนถึง 16 องศา พอสังเกตว่ากุ้งเริ่มนิ่งไม่ดีดตัวที่ผิวน้ำ จึงจับออกมาแพ็คกิ้งใส่กระบะ หรือ กล่องโฟม รองด้วยฟองน้ำมีผ้าชุบน้ำที่เย็นปิดทับตัวกุ้ง ปิดกล่องพร้อมอัดออซิเจนเพื่อให้มีอากาศข้างในเตรียมส่งลูกค้าได้ โดยจะใช้เวลาการแพ็คกิ้งไปถึงมือลูกค้าใช้เวลา 10 ชั่วโมง เมื่อถึงมือลูกค้าก็เอากุ้งไปลงน้ำ กุ้งก็จะฟื้นคืนตัวมีชีวิตเหมือนเดิม จะแตกต่างกับของเดิมมาก ถ้าเทียบระยะทางการขนส่งที่เท่ากัน เช่น ไม่ต้องแบกน้ำหนักน้ำที่ต้องสิ้นเปลือง ความคล่องตัวการเดินทาง เรื่องกุ้งกลับไปมีชีวิตได้ แต่การขนส่งอยู่ในน้ำบางครั้งขนส่งไม่ดีทำให้กุ้งตายเสียหายได้ หากใช้เครื่องระบบแบบนี้กุ้งยังคงมีชีวิตอยู่ สภาพเนื้อก็ยังดี ส่วนค่าขนส่งจะต่ำกว่าเดิม เช่น ก้งส่งราคากก.ละ 400 บาท ถ้าส่งแบบนี้จะมีราคาลดลงเหลืออยู่ประมาณกก.ละ 370 บาท ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น และยังได้กุ้งที่มีคุณภาพดีสดใหม่มากขึ้นอีกด้วย
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า นวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงวันนี้ จะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกการน็อกกุ้งให้สลบ ซึ่งแตกต่างจากของเดิมที่จะใช้น้ำแข็งในการลดอุณหภูมิให้เหลือประมาณ 45 องศา ถ้าเครื่องนี้มาก็เท่ากับไม่ต้องไปซื้อน้ำแข็ง ไม่ต้องคอยเอาเทอโมมิเตอร์คอยวัดอุณหภูมิจะลดเหลือเท่าไหร่ ในการนำกุ้งบรรจุกล่องได้แล้ว เพราะเครื่องนี้จะสามารถทำอุณหภูมิคงได้ เท่ากับว่าช่วยอำนวยความสะดวก สามารถที่จะทำเป็นในปริมาณมาก ๆ ได้ ช่วยลดระยะเวลาเกษตรกร ส่วนการส่งเสริมนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของการบริโภคกุ้งด้วย ถ้ามีการบริโภคมากการใช้เครื่องนี้มาอำนวยความสะดวกจะมีความต้องการมากขึ้น สำหรับการน็อกกุ้งก้ามกรามและกุ้งทะเลจะแตกต่างกัน โดยกุ้งทะเลใช้เวลาน็อก 14-15 ชม. ส่วนกุ้งก้ามกรามใช้เวลา 10 -12 ชม. ระยะเวลาอัตราการสูญเสียอยู่ประมาณไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการสาธิตระบบการทำสลบกุ้งก้ามกรามด้วยชุดเครื่องลดอุณหภูมิน้ำ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้รับประโยชน์ด้านการลดต้นทุนการขนส่งเดินทาง อีกทั้งกุ้งก็ยังมีคุณภาพดี ตายน้อยลง ช่วยลดการสูญเสียกว่าการขนส่งระบบเดิมได้ดีกว่าอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระต่างๆให้แก่เกษตรกรได้
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย โทร 081-8583532
/////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น