ข่าวราชบุรี : นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียนจัดแถลงข่าวเตรียมจัดงานประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ ที่มียาวนานกว่า 100 ปี ที่วัดเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรีระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย. มีกิจกรรมการละเล่นย้อนอดีตเพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีให้อยู่คู่ท้องถิ่น


               ( 2 เม.ย. 67 )   นายเทวัญ  ห่วงตระกูล  นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พร้อมนางกาญจน์กุระ ฮัยคาเนน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวเตรียมจัดงานประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ และของดีตำบลเจ็ดเสมียน ประจำปี  2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน โดยมีผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนสวมเสื้อลายดอกไม้สีสันสดใสมาสร้างสีสันงานประเพณีสงกรานต์ของชุมชน  เตรียมจัดขึ้นที่วัดเจ็ดเสมียน ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2567  ภายในงานมีการนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้านมาจัดแสดง อาทิ หัวไชโป้ว ขนม ผ้าพิมพ์ลาย กระเป๋าผลิตจากกาบกล้วยแบรนด์ตานีสยาม   โตก จากวัสดุหวายเทียม  พวงมาลัยจากกระดาษทิชชู  มะขามเทศ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ต่างๆซึ่งเป็นของดีในชุมชนที่ชาวบ้านรวมกลุ่มผลิตจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเกิดความยั่งยืน 

               นายเทวัญ  ห่วงตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน กล่าวว่า ในวันแรกของการจัดงานจะมีการแข่งขันเรือหัวใบท้ายบอด เพื่อสร้างความสามัคคีของชาวบ้านในชุมชน  ส่วนวันที่ 2 มีการประกวดธิดาดอกไม้ และการประกวดรถบุปผาชาติประเภทสวยงาม และประเภทสร้างสรรค์  เป็นกิจกรรมหลักและเป็นไฮไลท์ของการจัดงาน ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นไว้ในจังหวัดราชบุรีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนวันที่  3 จะมีการรดน้ำดำหัวของผู้สูงอายุ กิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย ช่วงค่ำมีกิจกรรมรำวงย้อนยุค และวงดนตรีมาเล่นช่วงปิดท้ายงาน 

               สำหรับประวัติงานประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์มียาวนานกว่า 100 ปีล่วงมาแล้ว จะอยู่ห่างช่วงสงกรานต์ประมาณ  7 วัน  นับจากวันสงกรานต์วันสุดท้าย ที่อื่นจะเล่นสาดน้ำแล้ว แต่ที่นี่จะทำทีหลังประมาณ 7 วัน ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ประเพณีแห่ดอกไม้ในสมัยโบราณ เวลามีงานจะมีเกวียน และวัวเทียมเกวียนหลังจากเวลาทำนาเสร็จแล้วนำมาร่วมกิจกรรมอาจดูไม่สวยงาม จึงเก็บดอกไม้ที่มีในธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว ดอกลีลาวดี ดอกดาวเรือง นำมาตกแต่งให้วัว ควาย มาประดับตกแต่งเกวียน เพื่อให้เกิดความสวยงามเพื่อแห่ไปในงานบุญกฐิน งานบุญผ้าป่าไปที่วัด และขนทรายจากแม่น้ำแม่กลองมาก่อพระเจดีย์ พร้อมกับใช้ดอกไม้ที่มีอยู่ประดับตกแต่งที่เจดีย์ทรายให้สวยงาม  เมื่อถึงวัดเจ็ดเสมียน ชาวบ้านจะถวายผ้าป่า จะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ลูกช่วง รำมอญซ่อนผ้า การละเล่นเข้าผี เป็นการละเล่นของคนไทย เชื้อสายเขมร มีการเข้าผีกระด้ง ผีสุ่ม บนศาลาการเปรียญวัด และยังมีการร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน 

                                               ///////////////////////////////////////////

 พันธุ์ - จรรยา  แก้วนุ้ย  จ.ราชบุรี
























ความคิดเห็น