ข่าวราชบุรี : รองผู้ว่าฯ ราชบุรี เปิดงานราชบุรีมีลาย อนุรักษ์มรดกแห่งภูมิปัญญา อัตลักษณ์ลายผ้า “ราชบุรี” กาบโอ่งนกคู่ ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกระบัตรเมืองราชบุรี ระหว่าง 16-17 เมย. มีการแสดงโชว์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ สินค้าชุมชนของดีมากมาย
( 16 เม.ย. 67 ) นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ ลายผ้าประจำจังหวัดราชบุรี (กาบโอ่งนกคู่) ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตร โดยมีนางนภสร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัด ระหว่างวันที่ 16 - 17 เมษายน 2567 โดยมีนายธนกร สดใส ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายการจัดกิจกรรมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ลายผ้าประจำจังหวัด " ราชาบุรี " (กาบโอ่งนกคู่) ร่วมกับคณะทำงานกิจกรรมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ลายผ้าประจำจังหวัดราชบุรี ภายใต้โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจ
การท่องเที่ยวชุมชนด้านฐานธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดงานเป็นการนำเอาทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมาขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและภาคบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ลายผ้าประจำจังหวัดให้เป็นที่จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมและเผยแพร่ โดยมีกิจกรรมการจัดนิทรรศการเล่าลายผ้า "ราชาบุรี" และผลิตภัณฑ์คอลเลคชั่น "เพราะรักษ์" @ ราชบุรี การแสดงแฟชั่นโชว์ คอลเลคชั่น "เพราะรักษ์" ราชบุรี โดยมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัด อาทิ กระเป๋ากาบกล้วยแบรนด์ตานี มาลัยจากกระดาษทิชชู ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วย ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาปั้นและยาหม่องสมุนไพร จากพื้นที่อำเภอต่างๆรวมทั้งอาหารคาวหวานนำมาจัดแสดงและจำหน่าย
นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ราชบุรีมีของดีมากมายที่คนทั้งประเทศอาจจะรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง ราชบุรียังได้ส่งออกมะพร้าวไปต่างประเทศปีหนึ่งมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท มีของดีอยู่ในมุมต่างๆมากมาย วันนี้ได้มารวมตัวกันอยู่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกระบัตรเมืองราชบุรี มาบอกกล่าวของดีเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าที่จะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ ทำให้คนได้รู้จักผ้าของราชบุรีมากยิ่งขึ้น โดยดึงเอาสิ่งที่ดีอย่างโอ่งมังกรนำมาประยุกต์เข้ากับลายผ้านี้ สิ่งที่ภาคภูมิใจคือ ราชบุรีมีสิ่งดีๆซ่อนอยู่และอยากนำเสนอให้ทุกคนได้รับทราบ ซึ่งนอกกจากเป็นเมืองแห่งมะพร้าวน้ำหอม เมืองตลาดน้ำแล้ว ยังเป็นเมืองเกษตรที่สร้างรายได้สูงสุดติดอันดับที่ 17 ของประเทศจากการเกษตร ส่วนผ้าที่นำมาเดินโชว์นั้นได้ผูกกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น สีการย้อม วิธีการนำเสนอลวดลายต่างๆ ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเชื่อว่าน่าจะเป็นการบอกกล่าวให้หลายคนทำความรู้จักผ้าของ จ.ราชบุรีมากยิ่งขึ้น
สำหรับลายผ้า “ราชาบุรี” กาบโอ่งนกคู่ ได้สืบสานศิลปวัฒนธรรมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนวิถีชีวิตชาวราชบุรี “ลายกาบ” จุดกำเนิดของศิลปะแม่แบบลายไทย จนมาเป็น “กาบโอ่ง” อัตลักษณ์ไท- ยวน ราชบุรี “หกเหลี่ยม” เปรียบเสมือนโอ่งราชบุรี นกคู่ อัตลักษณ์เฉพาะการครองรักครองเรือนเสริมสิริมงคลต่อคู่รัก มรดกแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้าน ถ่ายทอดสืบสานโดยคนรุ่นใหม่ ส่วนผ้าทอไท- ยวน มรดกแห่งภูมิปัญญาที่สะท้อนอัตลักษณ์ บ่งบอกชาติพันธุ์ และถิ่นกำเนิด ผ้ามีลักษณะพิเศษจากเทคนิคการ “จก” ทำให้เกิดลวดลายที่วิจิตรงดงาม นำมาต่อยอดพัฒนาให้เป็นอัตลักษณ์ลายผ้าประจำจังหวัดราชบุรี
นายธนกร สดใส ผู้ได้รับมอบหมายการจัดกิจกรรมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ลายผ้าประจำจังหวัด " ราชาบุรี " (กาบโอ่งนกคู่ ) กล่าวว่า โจทย์ของเราที่ได้รับมาคือการต่อยอดพัฒนาและสืบสานอนุรักษ์เป็นลายผ้า ชื่อว่า ราชาบุรี กาบโอ่งนกคู่ แต่แฝงคำว่าราชบุรีเมืองโอ่ง จึงต้องช่วยกันสร้างร่มใหญ่คือ สร้างโอ่งมังกรราชบุรี จะไปอยู่ในทุกมิติ ทั้งเส้นสายทุกอย่าง ทั้งความเชี่ยวชาญของศิลปิน ปราชญ์ ผู้ประกอบการ เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายต่อไปคือ กลุ่มแฟชั่น หรือ วัยรุ่นที่ผ้าไทยที่จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นใส่ได้ เป็นโจทย์ที่ทางวัฒนธรรมจังหวัดได้มอบให้ตนเองเป็นผู้ดีไซน์และขับเคลื่อนต่อไป
//////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น