ข่าวราชบุรี : อบจ.ลงพื้นที่รับทราบปัญหา ส่งแบ็กโฮ เร่งช่วยเหลือเกษตรกร ชาวสวนหลังผลไม้ยืนต้นตายจากสถานการณ์ภัยแล้งอย่างหนัก พร้อมนำรถน้ำช่วยเหลือ
นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ พร้อมคณะผู้บริหารฯและสมาชิกสภา อบจ. ลงพื้นที่ประชุมการแก้ไขและช่วยเหลือชาวบ้าน และชาวสวนผลไม้จากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ศาลาองค์การบริหารส่วนตำบลยางหัก อ.ปากท่อ โดยมีนายสุพัฒน์ อ่อนคง เกษตรจังหวัดราชบุรี มีผู้อำนวยการโครงการชลประทานที่ 13 ราชบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ผู้แทนปฏิรูปที่ดิน ผู้แทนปภ.จังหวัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เทศบาลตำบลทุ่งหลวง อบต.อ่างหิน อบต.ยางหัก อบต.ห้วยยางโทน อบต.หนองกระทุ่ม เข้าร่วมรับฟัง
ซึ่งได้มีชาวบ้านหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนที่อยากให้ทาง อบจ.ราชบุรี ประสานหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การนำรถแบ็กโฮขุดเจาะบ่อจิ๋ว หรือเบ้าขนมครก ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ราษฎร มีการใช้แนวพระราชดำริของพระองค์มาปรับใช้แล้วเกิดผลสำเร็จ เกษตรกรมีน้ำใช้อุปโภค และทำการเกษตรได้ผลจริง การนำเครื่องจักรเข้ามาขุดลอกสระน้ำประปาของหมู่บ้านให้มีความลึกเพื่อจะได้เก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ยาวนานยิ่งขึ้น และการช่วยเหลือเรื่องน้ำอุปโภค ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนกันทุกหลังคาเรือน ชาวสวนหลายคนพยายามทุกวิถีทางทั้งหาซื้อน้ำจากพื้นที่ด้านนอกไปรดพืชผัก ผลไม้ ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะและผลไม้อื่น ๆ ที่เริ่มยืนต้นเหี่ยวแห้งตายหลายตำบลแล้ว หากฝนยังไม่ตกลงมาภายในอีก 7 -10 วันข้างหน้านี้ คาดว่าจะมีผลไม้แห้งเหี่ยวตายเต็มพื้นที่เสียหายหนักเกือบทั้งอำเภอ จากการขับรถสำรวจบริเวณสองข้างทางพบว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ กอไผ่ สวนกล้วยไม้ และพันธุ์ไม้ต่างๆข้างทางเริ่มมีใบแห้งเหี่ยวกลายเป็นสีน้ำตาล บางจุดพบการถูกไฟป่าเผาเหลือแต่ซาก ชาวบ้านพยายามเรี่ยไรเงินค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำมันที่จะสูบน้ำมารถพืชผัก ผลไม้เพราะอยากให้ผลไม้ที่ปลูกมาอายุที่ยืนยาวให้มากที่สุด แต่ก็ทนสู้กับค่าน้ำมันไม่ไหว บางคนก็ต้องปล่อยให้แห้งเหี่ยวตายอย่างหมดหวัง หมดหนทาง หมดตัวกับการลงทุน
นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี กล่าวว่า มีการร่วมประชุมกับชาวบ้านอีกหลายตำบลที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องภัยแล้ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายหน่วยงานให้มาร่วมบูรณาการร่วมกันว่าเหตุเฉพาะหน้านี้จะช่วยประชาชนที่ประสบภัยแล้งได้อย่างไร โดยสภาพพื้นที่ต้นทุเรียนเสียหายจำนวนมากจากการขาดน้ำ เบื้องต้นได้สรุปว่าวันรุ่งขึ้นจะส่งรถแบ็กโฮเข้ามาดำเนินการขุดเบ้าขนมครกเป็นช่วงๆ เพื่อให้มีน้ำใต้ดินขึ้นมาสูบไปใช้ในเขตใกล้เคียงได้ ส่วนเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเข้าสำรวจพื้นที่ว่าจุดไหนสามารถเจาะน้ำบาดาลได้ เจาะไปแล้วพบน้ำและเป็นพื้นที่ที่สามารถอุทิศให้ในการดำเนินการได้ ก็จะทำเลย ส่วนระยะยาวทางชลประทาน และอบต.จะมาดูแผนที่จะแก้ไขระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะตำบลยางหักเป็นพื้นที่ที่ปลูกผลไม้ยืนต้นมาก และมีผลผลิตที่ดี แต่ขาดเรื่องแหล่งน้ำ
หลังประชุมเสร็จแล้วทางคณะได้เดินทางไปดูสภาพปัญหาพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ เช่น พื้นที่การขุดเบ้าขนมครกหรือบ่อจิ๋ว ซึ่งมีชาวบ้านบางคนได้รวมเงินกันว่าจ้างรถแบ็กโฮเข้ามาขุดเจาะไว้ก่อนหน้านี้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง ในการสูบน้ำไปรถพืชผักผลไม้จะทำเป็นช่วงๆกันไป นายก อบจ.รับปากในวันรุ่งขึ้นจะนำรถเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านบริเวณหมู่ที่ 5 บ้านไทยประจัน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ก่อนเป็นจุดแรก ส่วนจุดที่ 2 ให้ อบต.ยางหักสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องการใช้น้ำด้านอุปโภค จุดไหนที่เป็นพื้นที่สูบน้ำได้แต่น้ำแห้ง ให้นำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดเจาะน้ำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้เร็วที่สุด ส่วนพื้นที่ไหนที่เกินกำลังจะประสานกรมการทหารช่างขอรถบรรทุกน้ำเข้ามาแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนก่อน
////////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น